วันที่ (9 พ.ย.65 ) ที่บริเวณชายทะเลบ้านอ่าวจิก ม.5 อ.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้นำเรือออกหากุ้งเคยบริเวณนอกชายหาดของทะเลอันดามัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นกะปิ ซึ่งถือเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยกะปินั้นถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบหลักในการปรุงอาหารพื้นเมืองของคนใต้ ไม่ว่าจะเป็น แกงเผ็ด แกงพริก แกงส้ม แกงไตปลา แกงกะทิ หรือแม้กระทั่งการนำไปทำน้ำพริกชนิดต่างๆ มีขาวบ้านใกล้เคียงรวมถึงนักท่องเที่ยวมาซื้อกุ้งเคยสดกันอย้างคึกคัก เพื่อนำกลับไปประกอบอาหารและเป็นของฝากจากแดนใต้
โดยกุ้งเคยจะมีลักษณะคล้ายกุ้งฝอย จะลอยขึ้นมาเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่กลางทะเลอันดามัน ในช่วงเดือน 10 – เดือน 12 ตามปฏิทินไทยของทุกปี จึงกลายเป็นจุดเด่นของกะปิ คือ ผลิตจากกุ้งเคยที่ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำกลางทะเลเปิด ไม่มีตะกอนทราย หรือ ขยะเจือปน มีความสดและสะอาด สามารถนำมาประกอยอาหารได้หลายอย่าง อาทิเช่น ชุบแป้งทอด ยำกุ้งสด เป็นต้น และการนำไปทำกะปิที่มีรสชาติหอมอร่อยไม่เหมือนใคร
ส่วนขั้นตอนการผลิตนั้น เมื่อชาวบ้านหากุ้งเคยสดมาได้ จะต้องนำไปผสมกับเกลือเพื่อทำการหมัก ก่อนจะนำไปตากแดดจนแห้งหมาดๆ นำไปบดหรือตำด้วยครกไม้ขนาดใหญ่ ครั้งแรกเรียกว่าหักคอ จากนั้นนำไปหมักต่ออีกครั้งเป็นเวลา 7-10 วัน ก่อนนำออกมาตากแดด บดหรือตำเป็นครั้งที่ 2 เรียกว่าเคยดี หรือ เป็นกะปีที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารได้ ก่อนจะนำมาปั้นเป็นก่อน หรือบรรจุใส่ภาชนะแล้วส่งขาย สามารถเพิ่มมูลค่าจากกุ้งเคยสดกิโลกรัมละ 40-50 บาท เป็นกะปิกิโลกรัมละ 180-200 บาท
นายภานุพงศ์ พันธรักษ์ อายุ 35 ปี ชาวประมงในพื้นที่ กล่าวว่า ในช่วงนี้ของทุกปี กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจะเปลี่ยนจากการหาปลาแล้วนำเรือออกไปหากุ้งเคย เพื่อนำมาแปรรูปเป็นกะปี ส่งขายไปยังตลาดต่างๆ ของจังหวัดพังงาและใกล้เคียง และขายแบบกุ้งเคยสดซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี
พรชัย แซ่เอี๋ยว ผู้สื่อข่าว จ.พังงา