TLSP ยื่นคมนาคมเร่งพัฒนาสถานีรถไฟนาทาหนองคายให้พร้อมเป็นHubขนส่งสินค้าโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว-ไทย

วันที่(11 ก.พ.65)  ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า   นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรมว.คมนาคม เป็นประธานการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนต่อการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว และจีน ซึ่งจัดโดย กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ผ่านระบบ Zoom Meeting
โดยมีนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (TLSP) และ ดร.สุนทร ผจญ รองประธานสมาพันธ์ฯ พร้อมกับหน่วยงานราชการก.คมนาคม ภาคราชการ และ องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจและผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนต่อการดำเนินการของภาครัฐในความพยายามเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟ ระหว่างไทย-ลาว และจีน สำหรับรองรับการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันของไทยในเวทีการค้าโลก

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย(TLSP) ได้เสนอแนะแนวคิดในการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้กระทรวงคมนาคมใช้สำหรับเป็นข้อมูลในการพัฒนาและปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบรถไฟจีน-ลาว -ไทย สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทยและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ ดังนี้
1. ก.คมนาคม ควรทบทวนและปรับแผนงานด้านการรองรับการขนส่งทางรถไฟ ที่จะเชื่อมต่อมายังสถานีรถไฟนาทา หนองคาย

2. ก.คมนาคม ต้องเร่งรัดจัดตั้งให้สถานีรถไฟนาทา หนองคายให้มีความพร้อมเป็นLogistics Hub อย่างเร่งด่วน เนื่องจากสถานีรถรถไฟนาทา หนองคาย มีความพร้อมเกี่ยวกับบริเวณพื้นที่ที่มีจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้สามารถวางแผนในเรื่องระบบสาธารณูปโภคได้ทั้งหมด แลจะทำให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวในการจัดระบบและการบริหารด้านการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. ก.คมนาคม ต้องเชื่อมโยงระบบlogisticsไปให้ถึงพื้นที่ในส่วนของกรุงเทพฯ เช่น ICD ลาดกระบัง หรือท่าเรือแหลมฉบังมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันสินค้าขาเข้าจากประเทศจีน ที่ผ่านมายังสปป.ลาว ได้ถูกขนส่งและนำเข้ามายังเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริเวณปริมณฑลของกรุงเทพฯ มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงจากสถานีรถไฟท่านาแล้ง หนองคาย มายังท่าเรือแหลมฉบังได้ ก็จะสามารถทำให้การส่งออกสินค้าทางรถไฟไปคุนหมิง หรือ เมือง อื่นๆของประเทศจีนได้ง่ายยิ่งขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น

4. ก.คมนาคม ต้องเน้นการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังสปป.ลาว และประเทศจีน เพื่อเป็นการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางให้มากขึ้น จะทำให้การใช้ประโยชน์จากระบบรางคุ้มค่ามากขึ้น และสามารถสนองตอบและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

5. ก.คมนาคม ต้องพิจารณาเส้นทางการค้า ที่ทางสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย(TLSP) ได้ดำเนินการหารือร่วมกับสถาบันวิจัยคุนหมิง (SSILR) และบริษัท ยูนนานอินเตอร์คอนติเนนตัลฯ จำกัด เสร็จเรียบร้อยแล้ว ใน 2 กรอบเส้นทาง ดังนี้
– เส้นทางที่1 การเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าจาก ไทย-ลาว-จีน ไปยังเอเชียกลาง และเชื่อมไปถึงยุโรป
– เส้นทางที่2 การเชื่อมโยงเส้นทางจากหนองคาย ไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยใช้ศักยภาพของจังหวัดหนองคายและแหลมฉบัง เป็น gateway ให้กับประเทศจีน เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ

6. ก.คมนาคม ควรสนับสนุนและส่งเสริมโครงการความร่วมมือ หรือ Cross border logistics Sandbox โดยเป็นโครงการที่สามารถกำหนดรถบรรทุก,คนขับรถ หรือพนักงานที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ ให้สามารถเดินทางข้ามไปมาได้ โดยกำหนดระยะเวลาตามความเหมาะสม พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะทำการเข้าไปปฏิบัติงาน เช่น ด่านหนองคาย หรือ ท่านาแล้ง เป็นต้น ซึ่งหากการดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ จะสามารถช่วยให้การค้าชายแดน และการบริหารจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสร้างมูลค่าการส่งออกของไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับฟังข้อเสนอแนะที่ทางสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นำเสนอไว้พร้อมจะนำไปพิจารณาเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการเชื่อมโยง ทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป

 

เกียรติยศ  ศรีสกุล (บรรณาธิการ)

ติดต่อโฆษณา โทร.0949608555

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

นครสวรรค์-GISTDA ดันวิทยาศาสตร์อวกาศร่วมทดลองส่งผัดกะเพราไทยไปกับบอลลูน high-altitude

วันที่ (10 ก.พ.65 ) พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นาย […]

You May Like

Subscribe US Now