จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อให้บริการแก้ปัญหาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร ณ วัดช่างทอง อ.พระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันที่ (25 ก.ค.66 ) เวลา 09.30 น.นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ โรงเรียนวัดช่างทอง(บุญบำรุงราษฎร์) หมู่ 1 ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเดชาธร เชาว์เลขา นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายศักราช อัมวงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเรียน ตัวแทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ พี่น้องเกษตรกร เข้าร่วมพิธีจำนวนกว่า 200 คน และ มี ดร.รุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานราชการและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร สำหรับอำเภอพระนครศรีอยุธยา แบ่งการปกครองออกเป็น 21 ตำบล 112 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 81,939 ไร่ เป็นพื้นการเกษตร 23,632 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 28.84 ของพื้นที่ทั้งหมด มีครัวเรือนทั้งหมด 53,233 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนเกษตรกร 1,429 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 2.68 ของครัวเรือนทั้งหมด พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย นาข้าว มีพื้นที่ปลูก จำนวน 22,774 ไร่ ไม้ผล มีพื้นที่ปลูก จำนวน 470 ไร่
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีสภาพการผลิตทางการเกษตรซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพการทำนา ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังประสบปัญหาด้านโรค แมลงศัตรูพืชระบาด ซึ่งการจัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม ประจำปี 2566 ในวันนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่เกษตรกรจะได้รับ คำปรึกษา คำแนะนำจากนักวิชาการ ของหน่วยงานต่างๆอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ สามารถแก้ไข เยียวยา ปัญหาด้านเกษตรได้ในเบื้องต้น
กิจกรรมในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย การให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 23 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คลินิกแก้ปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย 1) คลินิกดิน 2) คลินิกพืชและการอารักขาพืช กลุ่มที่ 2 คลินิกด้านวิชาการเกษตร ประกอบด้วย คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกข้าว คลินิกเครื่องจักรกลทางการเกษตร คลินิกฝนหลวง กลุ่มที่ 3 คลินิกการให้บริการ ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านและวิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าราคาประหยัดการให้บริการพันธุ์พืชพันธุ์ดี พันธุ์ปลาน้ำจืด และปัจจัยการผลิตเกษตร สารชีวภัณฑ์ ทางการเกษตร