ที่ โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. เซอร์ลิลี่ นิลเขต ผู้อำนวยการโรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ พร้อมด้วย นายเอกสิทธิ์ เกิดกฤษฎานนท์ ประธานกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มม่า อลิส,ดร.สมลักษณ์ สุเมธ รองผู้อำนวยการโรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์,นายปริญญา วงษ์เชิดขวัญ อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการพิจารณาการศึกษาฯ ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU เปิดหลักสูตร “นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ AI” ระหว่างโรงเรียนพระมารดานิตานุเคราะห์ กับห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มม่า อลิส
เซอร์ลิลี่ นิลเขต ผู้อำนวยการโรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นการส่งเสริมให้นักเรียนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาตอนปลาย และ มัธยมศึกษา เป็นผู้มีสมรรถนะด้านความคิด การประดิษฐ์สิ่งต่างๆและก้าวสู่การเป็นนวัตกร คือ ผู้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ โดยคณะผู้บริหารคุณครูรวมถึงผู้ปกครอง เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มม่า อลิส พัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ AI ขึ้น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือ นวัตกรรม ทั้งเป็นรายบุคคล และ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ขอขอบคุณคุณเอกสิทธิ์ เกิดกฤษฎานนท์ ประธานกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มม่า อลิส ที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับทางโรงเรียน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน ขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในวันนี้ ขอบคุณคณะครู นักเรียนทุกคนที่มีความตั้งใจเป็นอย่างดี พร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่รวมถึงการใช้สื่อมัลติมีเดีย ทำให้หลักสูตรนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นผลสำเร็จตามเป้าหมายทุกประการ
นายเอกสิทธิ์ เกิดกฤษฎานนท์ ประธานกรรมการผู้จัดการ หจก.เอ็มม่า อลิส กล่าวว่า ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันความสำเร็จให้นักเรียนโรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์ ได้พัฒนาขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พร้อมที่จะนำความรู้ ทักษะ ด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี ไปบูรณาการร่วมกับความรู้ในสาขาที่นักเรียนต้องการศึกษาต่อในระดับสูงได้ เมื่อจบการศึกษาออกมามี “ความเก่งวิชาการ เชี่ยวชาญนวัตกรรม” สามารถสร้างสรรค์อนาคตได้ คาดหวังให้นักเรียนทุกคนได้คิด และลงมือปฏิบัติจริง สามารถแก้ไขปัญหาได้ นำความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ไปใช้ประยุกต์หรือหาโอกาสกับการทำงานของตนเองทุกสาขาในอนาคตได้ หรือแม้กระทั่งสามารถพัฒนาตนเองเป็นเจ้าของธุรกิจ (Startup) ในภายภาคหน้าได้อีกด้วย
เกียรติยศ ศรีสกุล (บรรณาธิการบริหาร)