วันที่ (26 ก.ค.66) องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่ง-ชันคุ้งลาน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดพิธีแห่เทียนจำนำพรรษาทางน้ำปี 2566 นำโดยนายเพนียด ผลภาพ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน-คุ้งลาน พร้อมด้วย นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พระนครศรีอยุธยา คณะผู้บริหารสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน-คุ้งลาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนทั้ง 11 หมู่บ้าน และผู้บริหารพนักงาน โตโยต้าไดมอนด์ ออโต้ อยุธยา โดยเริ่มตั้งขบวนเรือที่ประดับดอกไม้และตบแต่งเรือ ร่วมขบวนอันสวยสดงดงามหน้าบ้านนายเพนียด ผลภาพ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตลิ่งชัน-คุ้งลาน ล่องมาตามลำน้ำคลองโพธิ์และคลองตลิ่งชัน เพื่อนำเทียนพรรษาไปถวาย ณ ขนอนใต้ และ วัดขนอนเหนือ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ ซึ่งมีชาวบ้าน 2ฝั่งคลองร่วมกันทำบุญตลอดเส้นทาง
เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ร่วมกันอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ สืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งสมัยก่อนมีพระภิกษุได้ไปเดินเหยียบย่ำข้าวของชาวนาในแปลงข้าวทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้พระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 10 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวพืชผลนาข้าวของชาวบ้านพอดี ในช่วงเข้าพรรษานี้ประชาชนจะนำเทียนพรรษาไปถวายพระภิกษุ เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งก้าวหน้าโชติช่วงสว่างไสวชัชวาลดุจแสงเทียน
องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ตลิ่งชัน-คุ้งลาน เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน มีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ในพื้นที่ อบต.ตลิ่งชัน-คุ้งลาน เป็นการรวม 2 ตำบลเข้าด้วยกัน เดิมทีชาวบ้านตลิ่งชันเป็นชุมชนกลุ่มหนึ่งตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี หมู่บ้านบริเวณนี้อยู่ริมคลองที่มีลักษณะคดเคี้ยว และ มีพื้นที่ติดกับตำบลคุ้งลาน เพียงแค่ฝั่งคลองกันระหว่างสองตำบลดังนั้นจึงทำให้พื้นที่ของทั้งสองตำบลมีชื่อเรียกว่าคลองตลิ่งชัน-คุ้งลาน
ความโดดเด่นของที่นี่ ก็หนีไม่พ้นวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติสายน้ำ และ ลำคลองความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายวิถีชีวิตชุมชนเข้มแข็งเศรษฐกิจ พอเพียง ถ้าพูดถึงเรื่องน่าสนใจในพื้นที่ 2 ตำบล นี้อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน-คุ้งลาน มีผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงแหล่งอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ มีวัดวาอารามที่มีตำนานเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน