สมุทรสงคราม-นายกเศรษฐา ลงพื้นที่สมุทรสงคราม แก้ปัญหาประมง

วันที่ (1 ก.ย.66) เวลาประมาณ 10.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, พร้อม นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย, นายปานปรีย์ พฟิธานุกร, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า, นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นางนลินี ทวีสิน เดินทางด้วยรถยนต์ มาที่ ท่าเทียบเรือสิริไพโรจน์ ต.แหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เพื่อเยี่ยมชมการปฏิบัติหน้าที่การตรวจเรือประมงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะได้เห็นถึงปัญหาต่างๆที่ชาวประมงได้รับผลกระทบมาโดยตลอด จากนั้นได้พูดคุยประเด็นผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประมง โดยมีนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม, น.ส.กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายก อบจ.สมุทรสงคราม, พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม พร้อมคณะกรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, สมาคมประมงประจวบคีรีขันธ์, สมาคมประมงเพชรบุรี, สมาคมประมงสมุทรสาคร, สมาคมประมงสมุทรสงคราม สมาคมประมงสมุทรปราการ สมาคมประมงชุมพร และชาวประมงในพื้นที่ให้การต้อนรับ และสะท้อนปัญหาต่างๆ ด้วย

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม เปิดเผยว่าปัญหาของการประมงทะเลของไทยในปัจจุบัน มีหลายส่วน ประกอบด้วย 1.ปัญหาในด้านทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย ที่ไม่ยังยืนขาดองค์ความรู้ในการจัดการ ขาดนโยบาย คน และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดการศึกษา สำรวจ และวิจัย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ, 2.ปัญหาของชาวประมงทุกกลุ่ม(พื้นบ้าน, พาณิชย์และนอกน่านน้ำ) ที่ถูกบังคับใช้กฎหมาย(พ.ร.ก.ประมง และกฎหมายอื่นๆ)ที่ไม่เป็นธรรมมีโทษสูง ผู้บังคับใช้กฎหมาย(ทุกหน่วยงาน)ใช้อคติ, ขาดแคลนแรงงาน ต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว ทำให้เรือจอดขาดรายได้ ล้มละลาย กว่า 10,000 ลำ, 3.ปัญหาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขาดแคลนวัตถุดิบ ต้องนำเข้าปีละกว่า 1,000,000 ตัน, ผู้ประกอบการรายเล็กต้องเลิกกิจการ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันได้ 4.ปัญหาของผู้บริโภค ขาดแคลนอาหารโปรตีน ที่มีคุณภาพและปริมาณต้องนำเข้าปีละกว่า 500,000 ตัน และ 5.ปัญหาการบริหารจัดการด้านการประมงทะเล ขาดหน่วยงาน คน และองค์ความรู้เฉพาะทางในการจัดการทรัพยากรประมงและการใช้ประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีผู้บริหารที่มีพื้นความรู้ทางการประมงน้ำจืดมาบริหารกิจการทางทะเลมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การได้รับใบเหลืองจาก EU จนทำให้ชาวประมงได้รับผลกระทบเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาตลอด 8 ปี โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจ และใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม และทั้งที่ชาวประมงไม่ได้ตั้งใจกระทำความผิด แต่เกิดความคลาดเคลื่อนของเทคโนโลยีจากสัญญาณดาวเทียม หรือ ความสับสนของชื่อลูกเรือประมง เป็นต้น หรือ บางครั้งไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกกล่าวหา จับชาวประมงเป็นเหยื่อ เพื่อให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงเจอแบบนี้มาโดยตลอด ทำให้ชาวประมงต้องเจ๊งหมดตัวจำนวนมาก โดยโทษที่ชาวประมงถูกปรับไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายปล้นประชาชน

ดังนั้นชาวประมงจึงเสนอแผนงานในการฟื้นฟูและแก้ไขปัยหาการประมงทะเลไทยเพื่อความยั่งยืน เบื้องต้นภายใน 90 วัน ต้องดำเนินการ 7 ข้อ คือ 1.จัดตั้งคณะทำงานและอนุมัติหลักการให้เยียวยาเรือประมงที่ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 2.ออก พ.ร.ก.ประมงฉบับที่ 3 พ.ศ………, 3.จัดตั้งกรรมธิการวิสามัญพิจารณายกร่าง “ประมวลกฎหมายประมง พ.ศ…….” 4.จดทะเบียนนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยไม่จำกัดสัญชาติตลอดปี ปรับปรุงการจดทะเบียนให้สะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำ, 5.ฝึกอบรมและให้คำแนะนำ(ก่อนลงเรือประมง) 6.เจรจาประมงนอกน่านน้ำ, และ 7.เฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพของอาหารทะเลปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภค, ส่วนภายใน 1 ปีแรก ต้องดำเนินการ 11 ข้อ คือ 1.จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อเรือคืน, 2.จัดตั้งกรมประมงทะเล, 3.จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาการประมง” วงเงิน 5,000 ล้านบาท, 4.จัดตั้งธนาคารเพื่อการประมง, 5.จัดสร้างปะการังเทียมในบริเวณชายฝั่งและนอกชายฝั่ง, 6.จัดตั้งสำนักส่งเสริมการทำประมงนอกน่านน้ำไทยและส่งเรือไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทย, 7.แก้กฏหมายแรงงาน, 8.จัดระบบการประกันภัย/สุขภาพลูกเรือ, 9.ส่งเสริมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง, 10.ปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบ เพื่อการส่งออกและนำเข้าสัตว์น้ำ และ 11.ส่งเสริมการต่อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่า

นายมงคลฯ  กล่าวว่า ภายใน 2 ปีแรกขอให้รัฐบาลดำเนินการใน 4 ข้อ คือ 1.เสนอร่าง “ประมวลกฎหมายประมง พ.ศ….” และกฎหมายอื่น, 2.จัดตั้งวิทยาลัยประมงทะเลอย่างน้อย 4 แห่ง โดยจัดทำหลักสูตรได้แก่ การเดินเรือ ช่างเครื่อง ช่างไฟฟ้า ช่างต่อเรือ เป็นต้น, 3.จัดทำระบบประกันภัยเรือปะมง, และ 4.สนับสนุนงานวิจัยและส่งเสริมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า(value added) และ (Value Creation) ในตลาดโลก เป็นต้น ขณะที่แผนงานฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการประมง ภายใน 4 ปีแรก จะมี 4 ข้อ คือ 1.ตั้งสำนักการศึกษา สำรวจและวิจัยสัตว์น้ำทะเล และ กำหนดค่า MSY ใหม่ ให้สอดคล้องกับผลการศึกษา สำรวจ และวิจัย รวมทั้งการกำหนดจำนวนเรือ ขนาด เครื่องมือ และกำหนด ชนิด ขนาด ฤดูกาล พื้นที่ เงื่อนเวลา ของสัตว์น้ำที่ต้องการ อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ 2.จัดสร้างอุทยานใต้น้ำนอกฝั่ง, 3.จัดสร้างสถานีประมงนอกฝั่ง, และ4.จัดสรรอัตรากำลังบุคลากรและงบประมาณให้กับกรมประมงทะเล เพื่อการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืน

นายมงคลฯ  กล่าวอีกว่า หากทำตามแผนงาน(Road MAP) ดังกล่าวแล้ว คาดว่าผลที่จะได้รับ จะทำให้ทรัพยากรได้รับการฟื้นฟูและยั่งยืน จากหน่วยงานที่มีองค์ความรู้เฉพาะทาง, มีการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำมากกว่าปีละ 600,000 ตัน โดยไม่เป็น IUU Fishing, ทำให้ลดการนำเข้าปีละไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และเพิ่มมูลค่าการส่งออกปีละ 100,000 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมาย การส่งเสริม/สนับสนุนและการเยียวยาจากรัฐ รวมทั้งการประมงนอกน่านน้ำพลิกฟื้นกลับมาใหม่ภายใต้กติกาสากล สร้างงานใหม่ทั้งระบบกว่า 100,000 อัตรา โดยแรงงานได้รับการพัฒนา มีการจ้างงานที่ถูกต้องและได้รับสวัสดิการที่ดี ไม่มีปัญหาค้ามนุษย์ ตลอดจนผู้บริโภคมีอาหารทะเลที่เพียงพอและปลอดภัยในการบริโภค ตลอดจนผู้ประกอบการทุกกลุ่มมีความสุขในการประกอบอาชีพอย่างสุจริต เป็นต้น

นอกจากนี้ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งกรมเจ้าท่าให้ทบทวนกฎข้อบังคับการตรวจเรือเสียใหม่ เพราะการออกกฎหมายที่ผ่านมาที่บังคับให้ชาวประมงต้องใช้ วิทยุมดขาว ชุดละกว่า10,000 บาท โดยที่ชาวประมงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะชาวประมง ใช้วิทยุมดดำในการติดต่อสื่อสารกันอยู่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกสมาคมประมงท้องถิ่นขอให้ประสานมายังกรมเจ้าท่า กรณีข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกใบสำคัญ รับรองการตรวจเรือเพื่ออนุญาตให้ใช้เรือและใบสำคัญแสดงการตรวจเรือเพื่อจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมง พ.ศ.2561 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2561 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ซึ่งข้อ 9 เรือกลประมงต้องมีเครื่องรับส่งวิทยุตามภาคผนวก 1 สำหรับเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันขึ้นไป ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากปัจจุบันชาวประมงได้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากอยู่แล้ว ซึ่งสมาคมฯ ได้มีหนังสือไปยังอธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อขอความอนุเคราะห์และโปรดพิจารณาในการเลื่อนการบังคับใช้เครื่องวิทยุสื่อสารตาม ข้อบังคับกรมเจ้าท่าดังกล่าวข้างต้น ออกไปก่อนอีก 3 ปี เพื่อเป็นการลดอุปสรรคในการดำรงชีพให้กับชาวประมงในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันเครื่องวิทยุดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอ และผู้ควบคุมเรือประมงส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการอบรมบัตรพนักงานวิทยุโทรศัพท์ประจำเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีการสื่อสารภาษาต่างประเทศ (ภาอังกฤษ) ซึ่งชาวประมงไม่มีความสันทัดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

อ่างทอง-งูเหลือมเขมือบไก่ชนอดีตตำรวจจนเกลี้ยงเล้า

อดีตตำรวจที่หันมาเพาะเลี้ยงไก่ชนสั่งซื้อมาจากทางภา […]

You May Like

Subscribe US Now