สังคมไทยเป็นสังคมที่ยกย่องและเชิดชูนับถือ “ครู” เนื่องจากเป็นผู้ให้วิชาความรู้เพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูตัวเองได้ ดังนั้นพิธีกรรมของการไหว้ครูจึงเกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้เด็กเยาวชนนิสิตนักศึกษาในศาสตร์หรือแขนงความรู้ใดๆ ก็ตามแต่ สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมให้เห็นพิธีกรรมดังกล่าวนั้น ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อครูโดยลูกศิษย์ลูกหา ในปีนี้ 2565 นับเวียนมาบรรจบอีกครั้ง กับการไหว้ครูประจำปี ของอาศรม ปู่ฤาษีตาไฟ บ้านแม่ตะเคียน โดยคณะศิษยานุศิษย์ นำทัพการไหว้ครูโดย แม่ปาราวดี แม่มณีสังวาลย์ และลูกศิษย์ทั่วสารทิศของไทย หลั่งไหลมาร่วมพิธีอย่างล้นหลามซึ่งในช่วงเช้าก่อนเข้าพิธี ได้รับเกียรติจากประธานพิธี โดย ปู่อาร์ม และการรำบวงสรวงถวายในชุดบายศรีสู่ขวัญ โดย เยาวชนจากสถาบันการขับร้องครูโอปอ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม นานาชาติ บรรเลงโดยวงปี่พาทย์ครูตุ้มบ้างวังพญา นำพิธีความกตัญญูโดยหมอบาส และเข้าสู่ช่วงไฮไลท์ของงาน ซึ่งปีนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม นานาชาติ ร่วมขับร้องเพลง ถวายองค์ครูบาอาจารย์และบทเพลงเพื่อนำลูกศิษย์ระลึกพระคุณครูอาจารย์ที่ให้วิชา ให้อาชีพ ในบทเพลง รางวัลของครู ขับร้องโดย ครูโอปอ ( เจ้าของสถาบันการขับร้องครูโอปอ ) และหลังจากการถวายการแสดงเป็นที่เรียบร้อง หมอบาส ยังได้นำพาลูกศิษย์เข้าเคารพกราบไหว้ ครูอาจารย์ และร่วมผูกข้อมูลเป็นสร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกศิษย์ทุกคน ด้วย สายสิญจน์ สีเขียว แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ สุขขุมร่มเย็น ให้กับบรรดาลูกศิษย์ทุกคน และในช่วงบ่ายมีพิธีครอบครู โดยปู่อาร์ม เพื่อเป็นสิริมงคล แก่ ลูกศิษย์
ความหมายการครอบครู
“พิธีครอบครู” หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ (รับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา ครูจะอยู่กับศิษย์คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนการรำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใด ที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์ ทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจ มีความมั่นใจ
พิธีครอบครู
เป็นพิธีที่นิยมกันมาช้านาน หมายถึง การนำศีรษะครูมาครอบ (เพื่อรับเป็นศิษย์) และครูจะคอยควบคุมรักษา คอยช่วยเหลือให้ศิษย์มีความจำในกระบวนท่ารำ จังหวะดนตรี หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวศิษย์
การครอบเศียรฤาษีตาไฟ (พ่อแก่)
พระฤาษีตาไฟหรือที่คนไทยมักจะเรียกว่า “พ่อแก่” ท่านเป็นมหาฤาษีองค์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมไทยมาอย่างช้านาน ฤาษีตาไฟเป็นผู้สำเร็จอภิญญาสมาบัติขั้นสูง และมีความเชี่ยวชาญในการใช้กสินไฟ สามารถเพ่งให้ทุกอย่างลุกเป็นไฟได้ หรือทำให้ตะกั่วโลหะหลอมละลายไปในทันที พระฤาษีตาไฟท่านมีเนตรที่สามอยู่กลางหน้าผาก หากเมื่อใดที่ท่านลืมตาที่สามขึ้นก็จะเกิดไฟลุกไหม้เผาผลาญทุกอย่างที่อยู่เบื้องหน้า ในตำนานเชื่อว่าฤาษีตาไฟท่านเป็นอวตารของพระอิศวร ดังที่ทราบว่าพระอิศวรก็มีดวงตาที่สามเช่นกัน การครอบเศียรฤาษีตาไฟเป็นพิธีกรรมที่เคียงคู่กับสังคมไทยมาช้านาน เชื่อว่าจะทำให้เกิดสิริมงคลกับชีวิต ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้พ้นจากคุณไสยมนต์ดำ และเปิดรับตะบะบารมีจากองค์ปู่ฤาษีตาไฟผู้มีดวงตาที่สาม เพื่อให้เกิดสมาธิเข้าถึงญาณหยั่งรู้ ซึ่งเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดอานิสงส์สำคัญต่อ #ผู้ที่นับถือทางโหรศาสตร์และศาสตร์แห่งการพยากรณ์ทั้งปวง เพราะเชื่อว่าอำนาจบารมีแห่งดวงตาที่สามนอกจากจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและ ยังทำให้เกิดญาณหยั่งรู้ขึ้นในตัวอีกด้วย
นอกจากจะมีพิธีครอบเศียรพ่อแก่แล้วก็ยังมีพิธีครอบเศียรครูองค์อื่นอีก การครอบเศียรพระพิราพ พระพิราพหรือพระไภราวะนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับศาสตร์ทางนาฏศิลป์ เพราะเชื่อว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดท่ารำที่เรียกว่า “วิจิตรราณฑวะ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 108 ท่ารำของพระอิศวร ตามความเชื่อโบราณ #พระไภราวะ ท่านเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ เป็นปางดุร้าย ถือเป็นเทพแห่งความตายและสงคราม แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้ให้ชีวตปัดเป่าโรคภัยได้ เชื่อว่าการนับถือพระไภราวะได้เข้ามาบทบาทในสังคมไทยพร้อมกับวิชานาฏศิลป์ คำว่าพระพิราบนั้นก็มาจาก ไภราวะ หรือไภรวะ แล้วภายหลังก็เพี้ยนมาเป็นพระไภราพ จนในที่สุดกลายเป็นคำว่า “พระพิราพ” อานิสงส์ของการคอบเศียรพระพิราพ เชื่อว่าจะทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ร่มเย็นเป็นสุขและปราศจากโรคภัย ความเป็นมาของการครอบเศียรครู
พิธีไหว้ครูแบบประเพณีโบราณที่ถูกต้อง นั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ
1.ประเพณีไหว้ครูอย่างหลวง
2.ประเพณีเลี้ยงผีอย่างราษฏร์
การครอบเศียรครูถูกจัดอยู่ในประเพณีไหว้ครูอย่างหลวง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาสืบทอดมาตั้งแต่เมื่อใดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พิธีการไหว้ครูและการครอบโขน-ละครนี้ได้ถูกกำหนดไว้อย่างมีแบบแผนเป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ
การครอบเศียรหลวง
คือการพระราชทานครอบเศียรที่กระทำโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานครอบเศียรให้แก่บุคคลเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งผู้ที่ได้รับการครอบเศียรจะถือเป็นเกียรติอันสูงสุดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โดยปกติผู้ที่ได้รับการครอบเศียรหลวงนี้จะเป็นจะเป็นบุคคลชั้นครู หรือศิลปินแห่งชาติผู้มีบทบาทสำคัญต่อศิลปะวัฒนะธรรมที่สืบทอดความเป็นไทย นาฎศิลป์ไทยมีรูปแบบเฉพาะตัวที่มีลัทธิพิธีกรรมเป็นของตัวเอง
พิธีไหว้ครูครอบเศียรนั้นมีมาแต่โบราณ เป็นการปฏิบัติที่ถูกสืบทอดกันมาซึ่งอยู่ในความเชื่อของคนไทยแทบทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มศิลปินและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนาฎศิลป์ อีกประการหนึ่งที่ว่าลักษณะพิเศษของโขน-ละครไทยนั้น นอกจากจะเป็นนาฏศิลป์แล้ว ยังเป็นลัทธิอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นลัทธิมีพิธีกรรมของตนเอง และโดยเหตุนี้ นาฏศิลป์ไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับศาสนาฮินดูตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ลัทธิธรรมเนียมของโขน-ละครไทยที่เกิดขึ้นต่อมาจึงหนักไปในทางไสยศาสตร์หรือศาสนาฮินดู เทพเจ้าอันเป็นที่นับถือในลัทธิโขน-ละครนี้ คือ พระเป็นเจ้าของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม และพระพิฆเนศ นอกจากนั้นก็มีเทพอื่นๆ อีกบางองค์ เช่น พระปรคนธรรพ ผู้ซึ่งถือกันว่าเป็นใหญ่ในทางดนตรี รองลงมาได้แก่ ครูปัธยาย ซึ่งมีวัตถุที่เคารพแสดงออกด้วยหัวโขน ได้แก่ พระภรตฤษี หัวโขนยักษ์ หัวโขนพระราม พระลักษมณ์ เทริดโนห์รา และรัดเกล้าอันเป็นศิราภรณ์ของนางกษัตริย์ ในเรื่องละครหัวโขนอื่นๆ ที่ใช้ในการแสดงนั้น ถือว่าเป็นวัตถุที่เคารพทั้งสิ้น จะจับต้องหรือตั้งไว้ที่ใดก็ต้องกระทำด้วยความเคารพ
ความมุ่งหมายในการประกอบพิธีไหว้ครู
- 1. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ด้วยการถวายเครื่องสักการะ พลีกรรมแก่ครูบาอาจารย์ทั้งปวงที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้
- 2. เพื่อให้ศิษย์มีความมั่นใจ ตั้งใจ และแน่วแน่ในการเรียนนาฏศิลป์ หลังจากได้ผ่านการทำพิธีกรรมแล้ว
- 3. เพื่อเป็นการ ขอขมา ต่อครูบาอาจารย์ เมื่อได้กระทำผิดพลาด ทั้งทางกาย วาจา และใจ แม้จะเกิดขึ้นเพราะความไม่ตั้งใจก็ตาม
- 4. เพื่อไว้สำหรับต่อท่ารำที่เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่า เพลงหน้าพาทย์บางเพลงจะต้องต่อท่ารำในพิธีไหว้ครู จึงจะเกิดเป็นสิริมงคลทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียน
- 5. เพื่อเป็นสิ่งเตือนสติให้ศิษย์ และตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ประพฤติตนแต่ความดีงาม และเชื่อฟังครูอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอน
การตั้งเครื่องบูชาและเครื่องสังเวย
– ที่สำหรับครูปัธยาย จัดเครื่องสังเวยของสุกและเป็นเครื่องคู่ (คือสิ่งละ 2 ที่)
– ที่สำหรับครูดนตรีอยู่ทางขวามือ จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องคู่
– ที่องค์พระพิราพทางด้านซ้ายมือ จัดเครื่องสังเวยของดิบเป็นเครื่องคู่
– ที่พระภูมิจัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว
– ที่ตรงหน้าเครื่องปี่พาทย์วงที่ใช้บรรเลงในพิธี จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว
การกำหนดวันไหว้ครู พิธีไหว้ครูโขน-ละคร นิยมประกอบพิธีในวันพฤหัสบดี เนื่องจากศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า วันพฤหัสบดีเป็น “วันครู” เป็นวันถือกำเนิดของพระพฤหัสบดีที่มีกำเนิดจากฤษี 19 องค์ ซึ่งล้วนเป็นฤษีที่มีหน้าที่ในการสอน เป็นครูของมนุษย์และเทวดา และนิยมกำหนดวันข้างขึ้นเพราะเชื่อว่าเป็น “วันฟู” จะเป็นมงคลสูงสุด มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง สำหรับเดือนนั้นจะนิยมตามแบบโบราณ โดยกำหนดให้จัดพิธีในเดือนคู่ และเดือน 9 ซึ่งถือเป็นเลขมงคลของไทย สำหรับเดือนที่นิยมมากที่สุดในการจัดประกอบพิธีก็คือเดือน 6 เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการ เพาะปลูกอันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม สำหรับกิจกรรมไหว้ครูของอาศรมปู่ตาไฟ ( บ้านแม่ตะเคียน ) ถนนสุขสวัสดิ์ จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทุกท่านสามารถเข้าไปรับชม กิจกรรมต่างๆของทางอาศรมฯ ได้ซึ่งที่นี่เป็นบรรยากาศอบอุ่น สบายๆ และเป็นแหล่งเรียน ทางทางศาสตร์และศิลป์อันดีงาม ไว้ส่งต่อรุ่นลูกรุ่นหลาย ไว้ให้รับชมอีกด้วย สามารถเข้าไปชมได้ที่เพจ https://www.facebook.com/profile.php?id=100022597689464