นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสกลนคร ดำเนินการฝึกอบรม หลักสูตรการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) (Maintenance of Drone) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาสมรรถนะเกษตรกรไทยให้มีความรู้ความสามารถในการควบคุมบังคับและบำรุงรักษาอากาศยานไร้คนขับ(Drone) สำหรับการเกษตรกรรม โดยร่วมมือกับบริษัท Easy (2018) ซึ่งเป็นเอกชนไทยผู้ผลิตอากาศยานไร้คนขับ ภายใต้การประสานงานและช่วยเหลือสนับสนุนจาก ดร.เอกพร รักความสุข อดีตรมช.กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เพื่อร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานนอกระบบ และเกษตรกรไทย โดยนำร่องในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร ด้วยหลักสูตร “การซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) (Maintenance of Drone) “ จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 20 คน ดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 22-26 กันยายน 2565 ณ ห้องฝึกอบรม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสกลนคร
ภายใต้โครงการดังกล่าว ผู้สำเร็จการฝึกอบรมตามหลักสูตรจะมีความรู้ ทักษะตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพ การประยุกต์ใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร โดยมีสมรรถนะในการซ่อม และบำรุงรักษาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) และประยุกต์ใช้งานDroneได้อย่างถูกต้อง สามารถออกแบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร ให้มีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ สามารถปฏิบัติงานซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร และมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ สามารถนำความรู้และทักษะไปพัฒนางานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีนายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมและมอบวุฒิบัตรแก่กลุ่มเป้าหมายที่สำเร็จการฝึกอบรม ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกพร รักความสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดสกลนคร ตัวแทนหอการค้าสกลนคร และผู้แทนบริษัท อีซี่ (2018) จำกัด ผู้แทนจำหน่ายโดรน NRC ร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิดการฝึกอบรมและมอบวุฒิบัตร
นายสง่า วงศ์ษาพาน นักวิชาการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน กล่าวว่า การนำเทคโนโลยี AI ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาปรับใช้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับและพัฒนากำลังแรงงานไทยให้เป็นแรงงานคุณภาพ เพราะหากหน่วยงานราชการสามารถสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรเอกชนเพื่อนำเทคโนโลยี AI และนวัตกรรมDroneอากาศยานไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการเกษตรกรรมในแต่ละพื้นที่ จะทำให้กำลังแรงงานไทยผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร สามารถทำงานได้รวดเร็ว ประหยัดรายจ่าย และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการสร้างทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่กำลังแรงงานไทยในที่สุด