ชาวนาลุ่มน้ำยมเมืองชาละวันของอำเภอโพธิ์ประทับช้างรวมตัวร้องทุกข์กับ ป.ป.ช.พิจิตร ข้องใจ โครงการก่อสร้างฝายบ้านวังจิกเพื่อกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมงบประมาณ 231 ล้าน ตั้งแต่เริ่มสัญญาผ่านมาแล้ว 8 ปี ก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จส่งผลชาวนาเดือดร้อนไม่มีน้ำทำนา กรมชลประทานส่งผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงเหตุผู้รับเหมาทิ้งงาน ล่าสุดมีคำตอบว่ามีการบอกเลิกสัญญาผู้รับจ้างรายเดิมและจะหาผู้รับบจ้างรายใหม่เข้าดำเนินการ คาดประมาณเดือนเมายน 2569 คงแล้วเสร็จได้ใช้ประโยชน์ 6 ตำบล 3 อำเภอ ช่วยนาข้าว 37,397 ไร่ ฝั่งขวาแม่น้ำยม ให้มีน้ำทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์ได้แน่นอน
วันที่ (9 พ.ค.67 )นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 พร้อมด้วย นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร ได้นำพา นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต และ นายสมยศ เอมใจ นายกเทศมนตรีตำบลโพธิ์ประทับช้าง พร้อมด้วยแกนนำเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำประมาณ 20 คน ลงพื้นที่ไปดูยังจุดก่อสร้างโครงการฝายบ้านวังจิก ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างอยู่ในแม่น้ำยม ในพื้นที่ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นอาคารบังคับน้ำ 1 ในบันได 5 ขั้น ของกรมชลประทาน ที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได
จุดแรกคือ ที่ ประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สร้างเสร็จ 100% สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 7.60 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 51,357 ไร่ ในพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก คือ ต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม ต.คุยม่วง ต.บางระกำ ต.บึงกอก ใช้ประโยชน์ได้แล้วเมื่อฤดูน้ำหลากปีที่ผ่านมา (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง)
จุดที่ 2 ประตูระบายน้ำบ้านท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ผลการดำเนินงาน 83% คาดว่าฤดูน้ำหลากปี 2567 จะเสร็จแล้วทันกักเก็บน้ำเพื่อช่วยชาวนาพิจิตร-พิษณุโลก (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง)
จุดที่ 3 ประตูระบายน้ำสามง่าม (ฝายไฮดรอลิคพับได้) บ้านจระเข้ผอม ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท ในสมัยนั้น คือตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2563 ผลการดำเนินงานใช้งานได้มา 4 ปีแล้ว (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง) พื้นที่รับประโยชน์ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ครอบคลุมพื้นที่นาข้าวที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 3 หมื่นไร่ เศษ ต.สามง่าม ต.รังนก ต.กำแพงดิน สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม.
จุดที่ 4 ประตูระบายน้ำวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร (เป็นโครงการว่าจ้างผู้รับเหมา)ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการก่อสร้างด้วยงบ231ล้านบาทเศษ ที่ทำสัญญาว่าจ้างตั้งแต่ปี 2559 ผลการดำเนินการประมาณ 60% แต่ผู้รับเหมาขาดสภาพคล่องทิ้งงานจึงทำให้เป็นที่มาของปัญหาที่ ป.ป.ช.พิจิตร และ ผู้เกี่ยวข้องของกรมชลประทานต้องลงพื้นที่ชี้แจงให้กับชาวบ้านได้รับรู้ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
จุดที่ 5 ประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร งบประมาณการก่อสร้าง 735 ล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 5.10 ล้าน ลบ.ม. แผนดำเนินการก่อสร้างปี 2564–2569 (เป็นโครงการกรมชลประทานดำเนินการเอง) ผลการดำเนินงาน 42.74% คาดว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ 3 ตำบล 2 อำเภอ ของ ต.วังจิก ต.ไผ่รอบ อ.โพธิ์ประทับช้าง และ ต.บางลาย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ฝั่งขวาแม่น้ำยมพื้นทที่รับประโยชน์ 28,863 ไร่ จะมีน้ำทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์
โดย นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ก็เพื่อติดตามเฝ้าระวังป้องกันการทุจริตและให้คำแนะนำถึงการดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้ได้มากที่สุดรวมถึงหากพบปัญหาก็จะได้ร่วมกันแก้ไขเพื่อให้โครงการก่อสร้างสำเร็จลุล่วง
เช่นเดียวกับ นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กรมชลประทานมีแผนในการก่อสร้างประตูระบายน้ำหรือว่าฝายกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันได ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถูกต้องถูกใจเกษตรกรแต่ปัญหาติดขัดเรื่องการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำที่ฝายบ้านวังจิกที่ผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาและจะหาผู้รับจ้างรายใหม่ให้มาดำเนินการตาม Time Line ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและข้อกฎหมายซึ่งเชื่อมั่นว่าปี 69 จะได้ใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน
ในส่วนของ นายธนบดี รักสัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงสำหรับการก่อสร้างโครงการฝายบ้านวังจิกก็ได้ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาที่ทำสัญญารับจ้างลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 วงเงินค่าก่อสร้าง 231 ล้านบาทเศษ ขาดสภาพคล่องและทิ้งงานมีผลงานสะสมทั้งโครงการ 60.77% ขณะนี้กรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 รวมถึงดำเนินการสรุปตรวจสอบค่าเสียหาย , ดำเนินการจัดทำราคากลางใหม่ , ทำหนังสืขออนุมัติในหลักการดำเนินการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าจะได้ผู้รับจ้างรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือ และคาดว่า ปตร.วังจิกแห่งนี้ จะแล้วเสร็จในราวเดือน เมษายน 2569 ดังกล่าวนั่นเอง
สิทธิพจน์ เกบุ้ย จ. พิจิตร