วันที่ (19 มี.ค.67) ที่ แปลงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด อ.เมือง จ.มหาสารคาม นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด โดยมีผู้บริหาร บุคลากร ของสหกรณ์ฯ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม ภาคเอกชน บริษัท สยามคูโบต้า มหาสารคาม จำกัด ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมภายในงาน
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตามที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ที่ได้เห็นความสำคัญกับนโยบายสู่แนวทางปฏิบัติให้เกิดการขับเคลื่อนในการดำเนินการส่งเสริมสมาชิกทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ สมาชิกสามารถลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ เพียงพอต่อความความต้องการ มีตลาดรองรับที่แน่นอน มีรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณชีวิตที่ดีขึ้นของสมาชิกสหกรณ์ และความเข้มแข็งของสหกรณ์ ซึ่งพอหลังฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำนาข้าว ทำให้ตอซังข้าวและฟางข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้น เกษตรกรไม่สามารถที่จะกำจัดได้หมด บางส่วนใช้วิธีการกำจัดตอซังข้าวและฟางข้าวที่เหลือโดยการเผา ก่อให้เกิดจุดความร้อน (Hotspot) ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือน มกราคม – พฤษภาคม เกิดการสะสมในพื้นที่จนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 ) และลดภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา รณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา งดการเผาตอซังข้าวและข้าวโพด และส่งเสริมให้การนำไปแปรรูปเป็นสินค้าเกษตร ต่อไป
ด้าน นายทวีภัทร เหล่าบรรเทา สหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ การปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ ตามแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” โดยสร้างความสมดุลทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เชื่อมโยงการผลิตการตลาดทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการบริหารสินค้าเกษตรให้เกิดความสมดุล เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร มีตลาดรองรับแน่นอน มีรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพการเกษตรมากยิ่งขึ้น โดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ได้ให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินการส่งเสริมสมาชิกที่มีพื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานหรือมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาล ต.โคกก่อ ต.หนองโน ต.หนองปลิง และ อ.เมืองมหาสารคาม ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน อ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง หรือมีแหล่งน้ำเพียงพอต่อฤดูการผลิต โดยมีระยะเวลาในการปลูก 90 วัน จำนวน 80 ไร่ ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ จำนวน 400 ตัน ในการปลูกพืชหลังนา (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)
พิเชษฐ ยากรี – มหาสารคาม