วันที่ (21 ม.ค.65 )เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.ต.ชมชวิณ ปุรธนานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นายสมเกียรติ พูนสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. พาณิชย์จังหวัด ฝ่ายปกครอง และปศุสัตว์จังหวัด และลงพื้นที่ตรวจโรงแช่แข็ง บริษัท เฮียซน (ลูกเกษ) จำกัด เลขที่ 83/3 หมู่ 6 ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ประกอบการรับจ้างแช่แข็งเนื้อสัตว์ ซึ่งมีทั้งเนื้อสุกร สัตว์ปีและเนื้อสัตว์อื่นๆ และลุยตรวจโรงแช่แข็.ในพื้นที่อำเภอนครชัยศรี อีก 2 แห่ง เบื้องต้นจะต้องตรวจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 มกราคม 2565
ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เปิดเผยว่า ตำรวจได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ตรวจสถานที่โรงรับแช่แข็งเนื้อสัตว์ทั้ง 8 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม ข้อมูลจากปศุสัตว์จังหวัด มีโรงแช่ 30 แห่ง แต่ที่แจ้งขออนุญาตกับกรมการค้าภายใน มีเพียง 4 แห่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญมาก สั่งการให้บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กอ.รมน. พาณิชย์จังหวัด ปศุสัตว์ ลุยตรวจต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้วันหยุด ตรวจให้ครบทุกแห่ง และให้แล้วเสร็จภายในวันอังคารที่ 25 มกราคม 2565 พร้อมกันนี้ จะได้เข้าไปดูข้อมมูลย้อนหลัง 3 ปี มีความผิดปกติหรือไม่ ทั้งยอดการจัดเก็บ การจำหน่าย เพื่อดูว่ามีเจตนาจะกักตุนสินค้าหรือเปล่า ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนหรือเปล่า หรือเก็บไว้รอให้เนื้อสุกรมีราคาเพิ่มสูงขึ้นหรือเปล่า
นายสมควร ปิยะพงศ์เดชา ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม สถานการณ์ของโรคระบาด ASF จังหวัดนครปฐม พบเพียงจุดเดียว ในท่อน้ำทิ้งโรงเชือดแห่งหนึ่ง ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งกรมปศุสัตว์สืบค้นไปแล้ว เป็นสัตว์ที่ส่งมาจากทางภาคใต้ ส่วนที่ตัวสุกรในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ยืนยันยังไม่พบ ซึ่งก่อนเคลื่อนย้าย ทางฟาร์มจะต้องเก็บตัวอย่างเลือดมาตรวจสอบก่อน จึงสามารถเคลื่อนย้ายสัตว์ได้ ส่วนที่ฟาร์มของเฮียแป้น ทางเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างจากโอ่งน้ำหมักมาตรวจสอบแล้ว ไม่พบเชื้อ แต่ขณะนี้รอทางกรมยืนยันมาอีกครั้ง ในส่วนของเจ้าหน้าที่เราจะไปเก็บตัวอย่างเลือดสุกรมาตรวจหาเชื้อ เจ้าของฟาร์มก็ไม่อนุญาต แต่เท่าที่สังเกตเห็น ก็ยังมีสุกรที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์ม ไม่ป่วย ไม่ตาย ครับ
ส่วนเรื่องของเนื้อสุกรแช่แข็งในจังหวัดนครปฐม ขณะนี้เพิ่งเริ่มสำรวจ คาดมีประมาณ 800 – 900 ตัน ในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอ ส่วนใหญ่เป็นโรงแช่ขนาดเล็ก มีสัตว์ปีกรวมอยู่ด้วย มีทั้งประเภทรับจ้าง และประเภทแช่ของตัวเอง ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง จึงไม่ได้มีแจ้งให้ทางปศุสัตว์ทราบ
ต่อข้อถามเรื่องมาตรการเชิกรุก ที่จะเข้าไปดำเนินการตรวจและเพื่อป้องกันเชื้อโรคระบาด ASF ปศุสัตว์จังหวัด เปิดเผยว่า จังหวัดนครปฐม มีผู้เลี้ยงเป็นจำนวนมาก ปกติการเคลื่อนย้าย ฟาร์มก็จะต้องเจาะเลือดมาให้เราตรวจ ผ่านแล้วจึงสามารถเคลื่อนย้ายสัตว์ได้ ส่วนที่โรงฆั่ตว์ จังหวัดนครปฐมมีโรงฆ่าสัตว์มากที่สุด การเฝ้าระวังนับเป็นเรื่องยาก เปรียบบ้านเหมือนมีส้วม ที่ต้องเฝ้าระวังให้มากที่สุด ปีที่ผ่านมา ผลการเฝ้าระวัง 3 หมื่นกว่าตัวอย่างเป็นลบทั้งหมด
ส่วนที่ไม่มีรายงานการป่วย คาดว่าน่าจะขายไปก่อนที่สุกรจะตาย พอรู้ว่าเริ่มมีอาการป่วย เกษตรกรก็ขายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ปศุสัตว์จะเข้าไปดำเนินการอะไร ต้องรอผลตรวจจากห้องแลปเท่านั้น จึงสามารถเข้าไปดำเนินการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
บดินทร์ชัย เกรียงไกรชาญ จ.นครปฐม