วันที่ (29ก.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต รับฟังแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการเดินทาง ทางบกและทางอากาศ รองรับการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน การท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน และได้เดินต่อจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยนั่งรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ด ทะเบียน ขง 4477 ภูเก็ต ซึ่งเป็นรถยนต์คันเดิมที่ท่านนายกฯ เคยใช้ตอนลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครั้งก่อน ไปยังที่ศูนย์ดำรงธรรมส่วนหน้า อำเภอกระทู้ เพื่อรับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว ปัญหาที่ดินทำกิน ที่ดินทับซ้อน ปัญหาการจราจรในพื้นที่ โดยมีส่วนราชการต่างๆ และประชาชนให้การต้อนรับ
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำรัฐบาลพร้อมเร่งผลักดันการอำนวยความสะดวกในส่วนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม การสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งการปรับปรุงสนามบิน การเพิ่มเที่ยวบิน และในทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลพร้อมสนับสนุน และขอให้เร่งรัดการดำเนินการ เพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณ ระยะเวลาในการก่อสร้าง ให้มีความเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนโดยรวม สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การดำเนินการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนด้วย
สำหรับการก่อสร้างโครงการทางพิเศษ สายกะทู้ – ป่าตอง ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มุ่งมั่นให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 : ช่วงกะทู้-ป่าตอง เป็นทางพิเศษยกระดับและอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง โดยเป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์จนถึงเขานาคเกิด แล้วจึงเป็นอุโมงค์คู่ หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับ และสิ้นสุดโครงการที่ ตำบลกะ บริเวณจุดตัดกับ ทล. 4029 รวมระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
ระยะที่ 2 : ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.5เมตร เกาะกลาง 16.20 เมตร รองรับการขยายช่องจราจรในอนาคต ไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.5-เมตร และเนื่องจากรูปแบบโครงการเป็นทางพิเศษที่มีการควบคุมการเข้าออก จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบทางบริการฝั่งละ 2 ช่องจราจรแบบวิ่งสวนทิศทางจราจรตาม
ความเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้ตามเดิม โดยไม่ถูกทางพิเศษปิดกั้น สำหรับช่วงแนวเส้นทางในการต่อขยายเข้าสู่กะทู้ และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง แนวเส้นทางผ่านพื้นที่เขากมลาซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน จึงออกแบบเป็นอุโมงค์คู่ อุโมงค์ละ 2 ช่องจราจร และช่วงแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่เมืองกะทู้จะออกแบบเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร มีแนวเส้นทางอยู่บนถนนเดิมรวมระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร