วันที่ (19 เม.ย. 65 ) ชาวนาในจังหวัดอ่างทอง วอนรัฐบาลเร่งช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคาต้นทุนในการเพาะปลูกข้าว ทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ย ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 1,600 บาท ปุ๋ยมูลสัตว์ขยับขึ้น 15 บาท แถมขายข้าวที่ทำการเก็บเกี่ยวให้กับโรงสีในพื้นที่ราคาตก ได้เพียงเกวียนละ 6,000 บาท ขาดทุนไปกว่าแสนบาท หลังเข้าสู่ฤดูของการทำนาอีกครั้ง ครวญเกิดมาเป็นชาวนาก็ต้องทำนา หันไปเพาะปลูกอย่างอื่นตามที่ทางการแนะนำ ก็ขายไม่ได้ราคาเหมือนกัน แถมหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ผลสู้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ แถมจ่อขยับขึ้นราคาตาม จำต้องเป็นหนี้กู้เงินมาทำนาตามวีถีชีวิตกันต่อไป
จากการสอบถาม นาง ชลอ จันทร์ประดับ อายุ 66 ปี ชาวนาทุ่งราชสถิตย์ เปิดเผยว่า ตนเองคิดน้อยใจว่าชาวนาจะลำบากแค่ไหน เนื่องจากข้าวของมีราคาแพงขึ้นทุกอย่าง ตนเองมีอาชีพทำนาก็ต้องทำนา จะไปทำอาชีพอย่างอื่นก็ไม่ได้ ตนเองทำนา จำนวน 50 ไร่ ต้องขาดทุนไปแล้วกว่าแสนบาท เนื่องจากต้นทุนขึ้นทุกอย่าง ไม่เครียดจนต้องฆ่าตัวตายก็บุญแล้ว อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ลดราคาน้ำมัน และช่วยขยับราคาข้าวให้สูงขึ้น เพราะชาวนาคงแบกภาระไม่ไหว
ด้าน นาย สุทัศน์ สุนทรนันท์ อายุ 50 ปี ชาวนาทุ่งเทวราช กล่าวว่า ชาวนาน่าจะตาย เพราะราคาปุ๋ยขึ้นราคาถึง 3 เท่าตัว ชาวนาน่าจะอยู่ไม่ได้ แต่ก็ต้องทนทำนาถึงแม้ว่าจะขาดทุนไปแล้วกว่าแสนบาท ตนเองอยากให้รัฐบาลช่วยเร่งแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ย และราคาน้ำมันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ชาวนาที่ลงทุนทำนานั้นอยู่รอด
ทางด้าน นาย สมหมาย แป้นพงษ์ อายุ 64 ปี ชาวนาทุ่งราชสถิตย์ เล่าให้ฟังว่า ราคาข้าวที่ขายและราคาปุ๋ยที่ปรับขึ้นมีความไม่สมดุลกัน อยากให้รัฐบาลลงมาดูแล ส่วนตนเองทำนาและเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพเสริม ราคาอาหารเป็ดก็ปรับตัวสูงขึ้น กิโลกรัมละ 19 บาท กระสอบราคาตกอยู่ประมาณ 500 บาท ส่วนที่รัฐบาลส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตนเองเห็นว่าได้ผลช้าและผลผลิตไม่ดี เมื่อเทียบเท่ากับปุ๋ยเคมี ซึ่งมันเป็นคนละยุคคนละสมัยกันแล้ว
ส่วนทางด้าน นาย ทรงยศ มะกรูดทอง สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ราคาข้าว กข ราคาตกต่ำเหลือแค่ 6,000 บาท ตนเองอยากฝากทางรัฐบาล กระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ เรียกทางโรงสีมาประชุมกำหนดราคาข้าว และทางรัฐบาลอยากให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ตนเองเห็นว่าทุ่งราชสถิตย์ ทุ่งเทวราช และทุ่งย่านซื่อบางส่วน เกษตรกรชาวนายังไม่ได้ปฏิรูปที่ จะให้หันไปปลูกอ้อย ปลูกถั่ว ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ชาวนาถึงเป็นหนี้ก็ต้องทำนา จะปล่อยให้ที่นารกร้างว่างเปล่าก็ไม่ได้ ส่วนครอบครัวชาวนาก็มีค่าใช้จ่าย มีลูกหลานไปโรงเรียน ชาวนาส่วนใหญ่ปรับสภาพการกินอยู่ให้น้อยลง แต่ปรับไม่ทันสถานะการณ์ และราคาปุ๋ยมูลสัตว์ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามอีกด้วย
กนกศักดิ์ แสงตระการ จ. อ่างทอง