วันที่ (26 ม.ค.67) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นางภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ มี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 7 นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมประชุมเพื่อติดตามแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานฯ ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว
โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ได้รับทราบรายงานความเป็นมาของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ประกาศจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2509 มีเนื้อที่ประมาณ 98.08 ตารางกิโลเมตร หรือ 61,300 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี ภายในเขตอุทยานฯ มีจุดท่องเที่ยวจำนวน 11 จุด มีพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด พื้นที่กว่า 43,260 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 2,238 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.51 ซึ่งการบริหารจัดการพื้นที่มีกฎระเบียบการเข้าใช้พื้นที่อย่างชัดเจน มีการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติที่สำคัญ โดยสถิตินักท่องเที่ยวปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวรวม 129,730 คน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 75,167 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 54,563 คน สร้างรายได้เข้าอุทยานฯ 13,474,635 บาท
ทั้งนี้ ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีความหลากหลายประกอบด้วย บึงน้ำจืด ป่าชายเลน หาดโคลน และหาดทราย ลักษณะภูมิประเทศรอบเทือกเขาเป็นทุ่งที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ซึ่งบริเวณพื้นที่ราบมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบที่มีน้ำขังตลอดปี อยู่ทางด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ เรียกว่า “ทุ่งสามร้อยยอด” มีเนื้อที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นทะเลหรืออ่าว ต่อมาถูกปิดกั้นด้วยตะกอนและสันทราย ทะเลถอยร่นออกไป ได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแผ่นดิน โดยน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลักที่เข้าสู่ทุ่ง และน้ำส่วนหนึ่งไหลมาจากเทือกเขาสามร้อยยอด มีการสะสมของตะกอนที่ราบลุ่ม ค่อยๆ กลายเป็นทุ่งน้ำกร่อยและทุ่งน้ำจืดตามลำดับ “ทุ่งสามร้อยยอด” ถือเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นที่ราบลุ่มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวร ทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย มีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร บริเวณบึงน้ำจืดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีพืชลอยน้ำหรือพืชใต้น้ำกระจายอยู่หนาแน่นเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด
ส่วนบึงบัวทุ่งสามร้อยยอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ต่างๆ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกหลายชนิดทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพตามฤดูกาล เช่น นกกระสาแดง เป็ดแดง นกอัญชันอกเทา นกอัญชันคิ้วขาว นกอีโก้ง นักท่องเที่ยวสามารถเดินบนสะพานไม้ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มองเห็นความหลากหลายของพันธุ์ไม้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หญ้า มอสน้ำ จอก บัวหลวง แขม อ้อ ต้นธูปฤาษี สาหร่ายฉัตร สาหร่ายพุงชะโด หากเป็นช่วงฤดูออกดอกของบัว จะมีบัวแดงขึ้นเต็มพื้นน้ำ มีทั้ง บัวหลวง บัวเผื่อน บัวผัน บัวสาย รวมทั้งสามารถใช้บริการนั่งเรือนำเที่ยวชมวิวบึงบัวทุ่งสามร้อยยอดได้เพื่อถ่ายภาพความสวยงามของธรรมชาติ
บรรณรต เจริญกิจสัมพันธ์ จ.เพชรบุรี