เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ (20 ก.ย. 66 ) นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกฤษณ์ แก้วทองหลาง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเดชาธร เชาว์เลขา นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์ นายวันชัย ปังพูนทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา พันเอก ภัทราวุธ ทิพโกมุท รอง ผอ.รมน.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระดับน้ำ ที่หมู่ 11 ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และวัดไชยวัฒนาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สืบเนื่องจากยังมีฝนตกและมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราเพิ่มมากขึ้น สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 2/2566 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เรื่อง สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 2/2566 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เวลานี้ระบายอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 689 ลบ.ม ต่อวินาที ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณ ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1.00-1.50 เมตร
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำ ณ เวลานี้ยังไม่น่าเป็นห่วง จากการตรวจสอบพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่งทุกปี ในปีนี้ฤดูฝนมาช่วงกลางๆฤดูกาลแล้ว ปริมาณน้ำฝน และน้ำในเขื่อนยังมีน้อย และฝนที่ตกเป็นหย่อมความกดอากาศ ยังไม่มีพายุ แต่เป็นห่วงเรื่องภัยแล้ง เพราะน้ำในเขื่อนยังมีน้อย หากผ่านพ้นเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ไปแล้ว กว่าฝนจะตกมาอีกครั้ง ก็ต้องรอถึงเดือนมิถุนายน ปีหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบกับเกษตรกรรม
แต่ถึงอย่างไรก็ได้แจ้งเตือนให้ประชาชน ให้เฝ้าระวังปริมาณน้ำที่มีการระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา ลงมาจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเขื่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งในตอนนี้มีการระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 500-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หากมีการระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ไม่น่าเป็นห่วง ณ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะปกติ ทางกรมศิลปากร จัดทีมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาติดตั้งไว้เพื่อเตรียมความพร้อม และหากทางกรมชลประทานระบายน้ำในช่วง 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที กรมศิลปากรจะนำคนงาน ติดตั้งบังเกอร์ถาวร ยาว 165 เมตร ตลอดความยาวด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีแนวกำบังป้องกันน้ำท่วมที่ดีอยู่แล้ว และยังมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้รองรับ หากมีน้ำฝนที่ตกลงมาท่วมขังภายในโบราณสถานจำนวนมาก ภาพโดยรวมสถานการณ์น้ำยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
จากข้อมูลการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาของกรมชลประทาน ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากการคาดการณ์ คาดว่าจะระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนไม่เกิน 750 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งหากระบายน้ำตามข้อมูลข้างต้น จะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสั่งการให้ชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างประณีตและขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ทางหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิดและจะประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว