ย่างเข้าสู่ฤดูฝนและฤดูทำนาอย่างเป็นทางการแล้วเกษตรกรชาวนา จำนวนมากได้ลงมือไถหว่านปักดำทำนาข้าวกันแล้ว โดยชาวบางส่วนยังมีการเผาฟางเผาตอซังข้าว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งปัญหามลพิษ ฝุ่นควัน พีเอ็ม 2.5 ควันไฟลอยเข้าบ้าน บางรายไฟลามไปไหม้ทรัพย์สินของคนอื่น หมอกควันไฟยังทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำให้มีคนเจ็บและเสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย แต่ชาวนาสุพรรณบุรีส่วนใหญ่เลิกเผาตอซัง ฟางข้าวใช้วิธีไถกลบ ไถหมัก สร้างปุ๋ยในดินช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้
วันที่ 22 พ.ค.2566 นายพิชิต เกียรติสมพร อายุ 52 ปี ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านสวนแตง ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกร Smart Farmer เล่าว่าตนทำนามาประมาณ 22 ปีแต่เดิมทุกปีที่ตนทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะเผาฟางข้าวทิ้ง เพื่อจะได้เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวได้ง่าย แต่หลังจากตนได้ไปศึกษาดูงานได้รับการเรียนรู้เรื่องประโยชน์จากฟางข้าวแล้วจึงได้หยุดการเผาฟาง มาได้ประมาณ 4 ปี ทุกวันนี้หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวตนจะไม่เผาฟาง โดยจะให้รถเกี่ยวช่วยกระจายฟางข้าว แล้วใช้รถแทร็กเตอร์ ฟาร์ม ปั่นนาไปเลย
สำนาแปลงนี้ตนได้ใช้วิธีสูบน้ำเข้าล่อให้ข้าวดีด ข้าวเด้ง ขึ้นมาก่อนแล้วใช้รถแทร็กเตอร์ฟาร์ม มาปั่นฟางตอซังข้าว ข้าวดีด ข้าวเด้ง ไปเลยเพื่อทำลายทำให้นาข้าวสะอาดและหมักฟางข้าวเป็นปุ๋ย ทุกวันนี้ตนทำนาจะนำผลผลิตที่ได้ไปทำเมล็ดพันธุ์ปรับเปลี่ยนจากการที่ขายให้กับโรงสี เพราะการที่ตนมาทำนาเมล็ดพันธุ์สามารถเพิ่มรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์เพิ่มอีกตันละประมาณ 1,000 บาท ข้อแตกต่างของการที่เราเผาฟางกับไม่เผาฟางสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดก็คือจากการที่เราไม่เผาฟางจากการที่เราทำนาต้นข้าวเราจะมีความงามกว่าแปลงที่เผาฟาง จะเห็นได้ชัดเจน เวลาเราทำนาก็จะลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่นาข้าวของเราได้ และสิ่งที่ได้ตามมาก็คือโรค และแมลง เพราะว่าเมื่อเราไม่ใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไปต้นข้าวเราก็แข็งแรง พวกโรคแมลงก็ไม่ก็ไม่ค่อยรบกวน การที่เราไม่เผาฟางเป็นการช่วยลดต้นทุนแล้วเรายังสามารถขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งนาแปลงนี้เราทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ไม่เผาฟางข้าวเราสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย
ปัจจุบันเราไม่เผา เราจ้างรถอัดฟางนำเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ ปลูกพืช คลุมดินให้ต้นไม้ เพราะตนนอกจากจะทำนาแล้วยังทำสวนด้วย ความแตกต่างจากการที่เราเผาและไม่เผานั้นเห็นได้ชัด ถ้าเราเผานอกจากควันไฟ ละอองฝุ่น PM 2.5 จะไปรบกวนชาวบ้านแล้วไฟที่เผาฟางตอซัง ข้าวอาจจะลามไปไหม้ทรัพย์สินผู้อื่น โดยเฉพาะการเผานาที่อยู่ใกล้ถนนควันไฟจะลอยไปปกคลุมถนนทำให้รถที่วิ่งไปมามองไม่เห็นเป็นต้นของการเกิดอุบัติ ที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติจากการเผาฟางในนาข้าวมีคนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมาแล้วหลายครั้ง อยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาว่าการที่เราไม่เผาฟางก็สามารถใช้รถแทร็กเตอร์ฟาร์ม มาปั่นเตรียมแปลงได้เหมือเดิม บางคนคิดว่าถ้าไม่เผาฟาง ฟางจะไปพันโรตารี่รถปั่นบ้าง โรตารี่ปั่นไม่เข้าบ้าง ความจริงไม่ใช่เป็นความเข้าใจผิดของเกษตรกรเอง ถ้าเรากระจายฟางข้าวให้ทั่วแปลงนา รถแทร็กเตอร์ฟาร์มสามารถปั่นได้เลย ความรู้จากการไม่เผาฟางตนได้ไปศึกษาดูงานจากกรมส่งเสริมการเกษตร บ้างกรมการข้าวบ้าง หน่วยงานราชการต่างๆ เขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เกษตรจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรอำเภอและเกษตรตำบล ลงพื้นที่แนะนำให้ความรู้กับพวกเรากลุ่มเกษตรกรชาวนาให้เราได้เรียนรู้ว่าการไม่เผาฟางข้าวนั้นได้ประโยชน์ในหลายๆด้าน
ทางด้านนายคุณธีระพงศ์ เล่าโจ้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการกลุ่มอารักขาพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ลงพื้นที่รณรงค์ทำความเข้าใจให้ความรู้กับเกษตรกรให้ลดการเผารักษาสิ่งแวดล้อมพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ได้นำนโยบายมาประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวทั้ง 10 อำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี ลดการเผาตอซัง ฟางข้าวในนา ซึ่งข้อเสียของการเผาจะทำให้อินทรีย์วัตถุในดิน ธาตุอาหารผลผลิต จะลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นที่สำคัญคือก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกทำให้โลกร้อนทำให้ฝนทิ้งช่วง อาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งตามมา
ส่วนการลดการเผาทำได้อย่างไร คือ 1 การไถกลบตอซัง ข้อดีของการไถกลบก็คือช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน เพิ่มธาตุอาหารในดิน ทำให้โครงสร้างดินดีขึ้น ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้พืชเจริญเติบโตมากขึ้น ทำใช้ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ผลิตก็เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองหมอกควัน ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศในตอนนี้ จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวมากที่สุด เราจึงมีการอบรมถ่ายทอดวิธีการไถกลบ วิธีการย่อยสลายตอซัง การทำน้ำหมักในตอซัง การนำตอซังไปทำปุ๋ยอินทรีย์ การนำวัสดุไปคลุมดินนำไปทำพลังงานทดแทนทำเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งตอซังและฟางข้าวนั้นสามารถนำไปทำประโยชน์ได้อย่างมากมายมหาศาล โดยไม่ต้องเผาตอซัง
ภัทรพล พรมพัก จ.สุพรรณบุรี