แม่น้ำยมไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ในการกักเก็บน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็ทำให้เกิดน้ำท่วม เมื่อถึงฤดูหน้าแล้งแม่น้ำก็แห้งขอดกรมชลประทานพบทางออกแก้ไขสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำยมกักเก็บน้ำแบบขั้นบันได คาดปี 67 แล้วเสร็จใช้ประโยชน์ นาข้าว 7 ตำบล 2 อำเภอ พิจิตร-พิษณุโลก กว่า 8 หมื่นไร่ ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
วันที่ (12 พ.ค.65 ) นายสัญญา สุริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายธนาธิป แก้วมณี หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 1 นำพา นายธรรมนูญ แจ่มศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร และ นายวัชรินทร์ แทนจำรัส ผู้ช่วย ส.ส.นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ดูความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าแห ในแม่น้ำยม ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน งบประมาณ 350 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2567 ล่าสุดการก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งนี้ในส่วนของงานโครงสร้างตัวอาคารและการเรียงหินริมตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 70% โดยหลังจากนี้ยังคงเหลือในส่วนของงานการติดตั้งเครื่องกว้านและบานระบายใช้ในการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำดังกล่าวที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
ขณะนี้กรมชลประทานได้สั่งให้เร่งการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย ทั้งนี้คาดหวังว่าเมื่อ ปตร.ท่าแห แห่งนี้สร้างเสร็จและใช้งานจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำยมได้ประมาณ 12.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะกักเก็บน้ำ 29.33 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุม 7 ตำบล 2 อำเภอ 2จังหวัด ได้แก่ ต.บางระกำ , ต.ปลักแรด , ต.วังอีทก ,ต.พันเสา , ต.บ่อทอง , ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก , ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 81,111 ไร่
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้คือความตั้งใจจริงของรัฐบาลและกรมชลประทานที่ทำเพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวลุ่มน้ำยมในเขตพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก ดังกล่าว
สิทธิพจน์ เกบุ้ย ผู้สื่อข่าวจังหวัดพิจิตร