นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช) กระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.กยศ พร้อมคณะ และ นายวีรศักดิ์ ดวงดารา ผู้อำนวยการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการโรงเรียนการเดินเรือสปีดดี้ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช) ได้พาผู้แทนของ กยศ เพื่อดูโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ว่ามีความพร้อมด้านการเรียนการสอนหรือไม่ และความชัดเจนที่จะใช้หนี้คืน กยศ. ได้อย่างไรบ้าง นักเรียนส่วนมากที่มาเรียนในโรงเรียนเอกชนนอกระบบนี้จะมาจากหลากหลายอาชีพ และช่วงวัย โดยผู้ที่เรียนส่วนใหญ่จะเข้าไปอัพสกิล-รีสกิลและพัฒนาทักษะของประชาชน คือ เรียนแล้วมีงานรองรับ ทำงานได้ทันที
ทั้งนี้ นางสาว วิศวาณี สหพัฒนประเสริฐ ผู้บริหารโรงเรียนการเดินเรือสปีดดี้ ได้กล่าวถึง การขาดแคลนแรงงานทางทะเลของประเทศไทยซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤต ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระดับลูกเรือในเรือเดินสมุทร มากกว่า 1,000 อัตราในปี 2565 โรงเรียนได้ผลิตนักเดินเรือพาณิชย์ให้แก่ผู้ประกอบการเรือเดินสมุทรของไทย ได้เพียง 85คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ เนื่องมาจากคนส่วนมากขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเข้าอบรมด้านอาชีพถ้าดูผลการสำรวจแรงงานทางทะเลในปี 2564 จากสถาบัน BIMCOพบว่า มีวิกฤตขาดแคลนนักเดินเรือทั่วโลก สูงถึง143,000 อัตรา และอาชีพนักเดินเรือพาณิชย์เป็นอาชีพเฉพาะทาง จึงไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไปได้ ต้องเป็นโรงเรียนที่กำกับดูแลโดยกรมเจ้าท่าเท่านั้น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ) นี้ จะเปิดโอกาสด้านอาชีพให้ประชาชนทั่วไป ให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพเป็นนักเดินเรือพาณิชย์ได้มากขึ้น
นายวีระเดช ฤทธิชัย นายกสมาคมวิชาชีพเรือสำราญ ได้กล่าวถึงวิกฤตขาดแคลนแรงงานด้านการบริการโรงแรมบนเรือสำราญขนาดใหญ่ทั่วโลก หลายสายการเดินเรือสำราญต้องชะลอการนำเรือสำราญเข้าประจำการ เนื่องจากพนักงานไม่เพียงพอต่อการบริการ ในวิกฤตครั้งนี้ เปิดโอกาสให้คนไทย มีโอกาสร่วมงานกับสายการเดินเรือสำราญระดับโลก ในปีที่ผ่านมา ปี 2565 คนไทยเป็นที่ต้องการอย่างมาก เพราะมีความสามารถด้านการบริการ มีรอยยิ้ม และการเอาใจใส่ ทำให้เราส่งออกคนไทยไปทำงานบนเรือสำราญมากกว่า 1,000 อัตรา ผ่านบริษัทจัดหางานด้านแรงงานทางทะเลของไทย ผมคิดว่า ในปี 2566 เช่นกันที่เราต้องเร่งพัฒนาคนไทย โดยการอัพสกิล-รีสกิล คนไทยให้มีความพร้อมกับการทำงานเรือสำราญในระดับสากล กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ) นี้คือคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นคงด้านอาชีพแก่ประชาชนทั่วไป ที่พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่อาชีพนักเดินเรือพาณิชย์ทั้งเรือสินค้า และ เรือสำราญ
สุรศักดิ์ คงสินธ์ / ธนวัต นาคขำ จ.สมุทรปราการ