ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่าเมื่อวันที่ (23 เม.ย.65 ) ที่ ศาลพ่อหลวงคงเพชร ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพของชาวบ้านในอำเภอบางพลี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยในวันที่ 22-23 เมษายน ของทุกปีหลังจากวันสงกรานต์ 1 สัปดาห์ ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อพ่อหลวงคงเพชร และแม่ย่าที่มีมานานกว่า 200 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันจัดประเพณีสรงน้ำเจว็ด และพิธีส่งเรือลงน้ำในคลองบางโฉลง ที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลวงคงเพชรกันทุกปี จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยมีความเชื่อว่า การจัดพิธีสงน้ำเจว็ดและหลวงพ่อคงเพชร จะช่วยสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และเรื่องร้าย ๆ จะกลายเป็นดี โดยในช่วงเช้าจะเป็นพิธีถวายเครื่องสังเวย เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมต้มแดง-ต้มขาว เหล้าขาว ที่นำมาเซ่นไหว้ จากนั้นในช่วงบ่ายจะประกอบพิธี ส่งเรือ ซึ่งเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งไม่ดีงาม ให้ล่องลอยไปกับเรือ
นาย ชะอุ่ม แตงโสภา นายก อบต.บางโฉลง เปิดเผยว่า ศาลเจ้าพ่อหลวงคงเพชร เป็นสถานที่ชาวตำบลบางโฉลงและชาวบ้านใกล้เคียงมาสักการบูชาถือเป็นเวลานานกว่า 200 ปี มาแล้ว มีปู่ย่าตาทวดเล่าขานกันต่อมาว่า พ่อหลวงคงเพชรเป็นแม่ทัพเชื้อสายพระวงศ์ที่มีวิชาอาคมแก่กล้าและมีฝีมือดีคนหนึ่งครั้งสมัยกรุงสุโขทัย เมื่อหลังถูกพม่ายกทัพมาตีจนเสียกรุงสุโขทัย จึงได้นำทหารถอยร่นมาถึงยังถิ่นบ้านบางโฉลง ตามตำนานเล่าว่ามีชาวบ้านเคยขุดพบเรือทหารโบราณของท่านเป็นไม้ตะเคียนลำใหญ่จมอยู่ที่ในลำคลองหน้าวัดบางโฉลงใน และหลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตลงก็ได้มาเข้าฝันกับปู่ทวดตนที่เป็นเสนาบดีครั้งนั้นว่า ได้มีพม่ายกทัพมาตีกรุงและเผาเมืองสุโขทัยจนพ่าย ตนเองได้นำแม่ย่าหลบหนีไปอยู่ในถ้ำบริเวณหุบเขาแถบกงไกรลาศ ขอให้ลูกหลานเดินทางไปตามหาให้ด้วย จึงได้เดินทางดั้นด้นไปหาจนพบศาลแม่ย่าอยู่ในถ้ำแห่งนั้นจริง ๆ จึงได้กราบไหว้และอัญเชิญมาที่บางโฉลงพร้อมทั้งตั้งศาลพ่อหลวงคงเพชรและศาลแม่ย่าขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะ
นอกจากนี้ยังได้เล่าขานกันต่อมาอีกว่าครั้งนั้นได้มีผู้อยากทดสอบและลองวิชา พ่อหลวงคงเพชร จึงได้แสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นเป็นจระเข้ตัวใหญ่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ และแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นเป็นที่อัศจรรย์ จนเป็นที่เคารพศรัทธานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้ตกลงกันว่าเมื่อถึงวันที่ 23 เมษายน ของทุกปีชาวบ้านที่ศรัทธาจะนัดมาพบกัน เพื่อทำพิธีปิดทองและสรงน้ำเจว็ด รวมทั้งมีการประกอบพิธี ส่งเรือ ซึ่งเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งไม่ดีงามทั้งหลาย ให้ล่องลอยไปกับเรือ และชาวบ้านที่มาร่วมงานต่างสรงน้ำอบ น้ำปรุงต่าง ๆ ไปยัง เจว็ด เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยปกติในทุกปี หลังเสร็จพิธีส่งเรือ ประมาณบ่ายสี่โมงเย็นก็จะมีลูกหลานที่สืบทอดทายาทนุ่งขาว ห่มขาว ผ้าขาวม้าพาดไหล่ เป็นผู้ถือเจว็ดพ่อหลวงคงเพชรและแม่ย่าที่ตั้งอยู่ในศาล รวม 7 อัน มาทำการแห่เฉลิมฉลองให้ชาวบ้านที่เคารพนับถือได้ร่วมกันทำการสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล บ้างก็นำมือทั้งสองข้างเข้าไปลูบเจว็ดเพื่อนำทองคำเปลวที่ติดอยู่มาลูบที่ใบหน้า บ้างก็ขอผ้าแดงมาผูกที่ข้อมือ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องราง ทำให้ทั่วบริเวณงานหอมกรุ่นไปด้วยน้ำอบไทย เสมือนกับได้ย้อนหวนกลับไปในอดีตชาติ โดยมีขบวนกลองยาวและเครื่องสีตีเป่าบรรเลงบทเพลงนำหน้า
บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้นสนุกสนาน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ทำให้ต้องหยุดการจัดประเพณีนี้มาสองปีพอมาในปีนี้ ชาวบ้านและคณะกรรมการการจัดงานจึงมีมติจัดงานประเพณีนี้ขึ้นมา ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด และปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมจะแห่เจว็ดวนรอบเพื่อให้ลูกศิษย์ของพ่อหลวงคงเพชรได้พรหมน้ำอบสรงน้ำเจว็ด แต่พอมาในปีนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนและอันเชิญเจว็ดมายังพลับพลาที่เตรียมไว้แล้วให้ลูกศิษย์เข้าแถวเว้นระยะห่างเข้ามาสรงน้ำแทน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด
สุรศักดิ์ คงสินธ์ / ธนวัต นาคขำ จ.สมุทรปราการ