วันที่ ( 11 ก.พ.65 )ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเดินทางมาประชุมสรุป และบูรณาการกำลังร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล./ศรชล.ภาค 3)กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า พร้อม พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รองผบช.ทท. โดยมี พล.ร.ต.ทินกร กาญจนเตมีย์ ผอ.สน.ฝอ.ศรชล.ภาค 3 น.อ.สถาพร เหลืองทองคำ รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดพังงา ให้การต้อนรับ
กรณีเข้าจับกุมเรือประมง ชื่อ ช.ศรีพลนภา 5 ขนาด 122 ตันกรอส ขณะทำการประมงบริเวณทะเลอันดามัน พื้นที่รอยต่อจังหวัดพังงาและระนอง โดยให้เข้าเทียบท่าที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งเรือลำดังกล่าว มีพฤติกรรมวนเวียนเติมน้ำมันจากเรือสถานีบริการ (Tanker) หลายลำ ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน โดยใช้รหัสเติมน้ำมันของ “เรือประมงที่แจ้งทำลายเรือ” ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และขยายผลเข้าตรวจค้นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ จากผู้เกี่ยวข้อง คือ เรือสถานีบริการน้ำมันเขียว บริษัทเข้าของเรือสถานีบริการน้ำมันเขียว รวมถึงสมาคมประมงที่ให้การรับรอง เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 189 ขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีคุณสมบัติ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาน้ำมันที่อยู่ในเรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งเรือประมงที่ถูกจับกุมวันนี้บรรทุกน้ำมันประมาณ 30,000 ลิตร และได้เติมน้ำมันเขียวโดยใช้รหัสเติมน้ำมัน
เขียวจากเรือประมงลำอื่นที่แจ้งกับกรมเจ้าท่าว่า ถูกทำลายไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง จะต้องโดนปรับเป็นเงินจำนวน 4,320,000 บาท นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายกระทำความผิดพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 203 ฐานนำน้ำมันที่ยัง
ไม่เสียภาษีสรรพสามิตเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับสองถึงสิบเท่าของภาษีจึงจะต้องเสียค่าปรับอีก
12,600,000 บาท รวมค่าปรับทั้งสองกฎหมาย รวม 16,920,000 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมการดำเนินคดีจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 เป็นต้น
สำหรับโครงการน้ำมันเขียว เป็นโครงการที่ภาครัฐจัดน้ำมันดีเซลที่เติมสารสีเขียวเพื่อให้แยกแยะจากน้ำมันบนฝั่งได้ และได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกประมาณลิตรละ 6 บาท ซึ่งรัฐบาลจัดให้มีขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 18 กันยายน 2555 ในการบริหารจัดการมีอธิบดีกรมสรรพสามิตทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ ปัจจุบันมีเรือสถานี บริการ (Tanker) 51 ลำ ให้บริการพี่น้องชาวประมงพาณิชย์ทั่วเขตทะเลไทย
ต่อมาประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” การทำประมง IUU จากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2558 รัฐบาลได้ดำเนินการจัดระเบียบการทำประมงประเทศไทยใหม่ทั้งระบบ ทำให้เรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับสิทธิเติมน้ำมันเขียวลดลงจาก 10,459 ลำ ในปี 2559 เหลือ 8,445 ลำ ในปี 2564 แต่ทว่าขณะที่เรือประมงพาณิชย์ที่เติมน้ำมันเขียวลดจำนวนลง แต่ปริมาณการจำหน่ายกลับมิได้ลดลงตามสัดส่วนจำนวนเรือ กลับ “คงที่อยู่ประมาณปีละ 610 ล้านลิตร” คิดเป็นภาษีที่รัฐบาลยกเว้นถึงปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือเท่ากับเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่เติมน้ำมันเขียวได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการยกเว้นภาษีที่ควรจะเสียประมาณ 471,717 บาท/ลำ/ปี
ภาพ-ข่าว พรชัย แซ่เอี๋ยว จ.พังงา