บรรยากาศงานประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ภายในวัดแก่นจันทร์เจริญ คึกคักมีนักท่องเที่ยวควงคู่ให้รักกันเหมือนขนมครกคึกคัก
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม นายศิริศักดิ์ ศิริมังคลา ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานเปิดงานประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ซึ่งวัดแก่นจันทร์เจริญ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สมุทรสงคราม และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางพรม จัดขึ้นทุกวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ทุกปี เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีไทยสมัยพุทธกาลที่สืบทอดมาเกือบ 100 ปีซึ่งเหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม ในงานมีชาวบ้านทยอยกันออกมาช่วยกันโม่แป้ง ขุดมะพร้าว คั้นกะทิ เพื่อทำขนมครกสูตรโบราณ ซึ่งมีเพียงแป้งข้าวเจ้า กะทิจากมะพร้าว เกลือป่น และต้นหอมหั่นชิ้นเล็กๆโรยหน้าเพื่อเพิ่มความหอมของขนมครก
โดยมีนักท่องเที่ยวร่วมกันหยอดและแคะขนมครกจากเตาซึ่งเป็นเตาถ่าน 30 เตา เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์นำโดยพระครูวิมลสมุทรกิจ เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ ทั้งนี้ขนมครกและน้ำตาลทรายจำนวนมากที่ได้จากการทำบุญตักบาตรของชาวบ้าน ที่เหลือจากพระฉันแล้ว ส่วนหนึ่งทางวัดจะแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มาร่วมบุญนำกลับบ้านแจกลูกหลานกิน และอีกส่วนหนึ่งก็นำไปถวายวัดใกล้เคียง ขณะที่เงินที่ได้จากการขายขนมครกชาวบ้านก็จะถวายให้กับทางวัดเพื่อนำไปพัฒนาวัดต่อไป
สำหรับประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทรายสืบเนื่องมาจากสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจนการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จึงมีแต่อาหารคาวประเภทปลาและพืชผักที่พอจะหาได้ในพื้นที่ตามอัตภาพโดยไม่ต้องซื้อส่วนขนมหวานก็ไม่ค่อยจะมีใครถวาย จะมีก็แต่ขนมครกเพราะทำง่ายและวัตถุดิบก็มีอยู่ในบ้านแล้วเป็นส่วนใหญ่อีกทั้งยังถูกเงินเช่นแป้งข้าวจ้าว มะพร้าว และน้ำตาล
นอกจากนี้ยังมีน้ำตาลทรายเพื่อให้ลูกศิษย์วัดนำไปทำตังเมถวายพระ พระครูสุนทรสมุทรกิจ หรือหลวงปู่โห้ เจ้าอาวาสวันแก่นจันทร์เจริญรูปแรก จึงริเริ่มการตักบาตรขนมครกน้ำตาลทรายขึ้น และเมื่อเจ้าอาวาสรูปแรกมรณภาพ พระครูสมุทรกิจโกวิท หรือหลวงพ่อพัฒน์ เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ก็ได้สืบทอดประเพณีการตักบาตรขนมครกเรื่อยมาจนถึงเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือพระครูวิมลสมุทรกิจ หรือหลวงพ่อขาว ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี