@ สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (TLSP) โดย นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย พร้อมคณะกรรมการสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ได้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ)วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเครือฟาร์อีสต์โปรเฟสชั่นแนลส์ และ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยโลจิสติกส์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้นครคุนหมิง เป็นประธานในการประชุม โดยมีพันธมิตรผู้ประกอบการโลจิสติกส์และผู้ส่งออก-นำเข้าไทยลาวจีน ได้แก่ สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย สมาคมผู้ประกอบการผักผลไม้ไทย และสมาคมการค้าธุรกิจข้ามแดนไทย-จีน เพื่อหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเส้นทางโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว-ไทย โดยมีประเด็นข้อหารือ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประเด็นที่1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดบริการขนส่งสินค้าทางรางบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทางถนนและทางรางของไทยประเด็นที่2 การปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคของการขนส่งสินค้าไทยสู่ตลาดจีนผ่านเส้นทางถนน R 9, R12 ผ่าน สปป.ลาวและเวียดนามสู่ตลาดจีน(เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี) และผ่านเส้นทางถนน R3 ผ่าน สปป.ลาวสู่ตลาดจีน (มณฑลยูนนนาน) ตลอดจนปัญหาความไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาลไทยในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาว รวมทั้งความกังวลในผลกระทบต่อการส่งสินค้าเกษตรของไทยสู่ตลาดจีนและความกังวลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรของจีนที่ขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเข้าสู่ตลาดไทย
ประเด็นที่3 ร่วมกันพิจารณาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวทางเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นใหม่อันเนื่องมาจากการเปิดเส้นรถไฟจีน-ลาว ซึ่งที่ประชุมมีข้อสรุปและความเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาบางระดับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ แต่ปัญหาบางระดับจะต้องสะท้อนปัญหาเพื่อเสนอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือสนับสนุนและหาทางแก้ไขปัญหาให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นร่วมกันว่า ในระบบการขนส่งหลายรูปแบบระหว่างประเทศนั้น การแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากการแก้ไขปัญหาภายในประเทศแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องร่วมปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการและองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ในเส้นทางโลจิสติกส์ดังกล่าวด้วย โดยประธานจะเป็นผู้ประสานงานเชิญองค์กรและผู้ประกอบการของจีนร่วมปรึกษาหารือกับฝ่ายไทยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รับทราบปัญหาร่วมกัน และร่วมปรึกษาหาแนวทางแก้ไขอุปสรรค รวมทั้งรูปแบบความร่วมมือกันเพื่อให้การขนส่งระหว่างประเทศบนเส้นทางใหม่นี้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายอนึ่ง กำหนดการวางแผนจะนัดให้ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนประชุมหารือร่วมกันต่อไป
นายสง่า วงศ์ษาพาน นักวิชาการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน ให้ทัศนะว่า “ เราอย่ามองจีน ลาว เวียดนามเป็นคู่แข่ง ไทยต้องมองประเทศเหล่านี้เป็นหุ้นส่วน เป็นพันธมิตรที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เราต้องสร้างความร่วมมือที่ดีต่อกัน และอย่าให้คนหนองคายหรือคนในจังหวัดพื้นที่ภาคอีสานได้แค่แลมองและฟังเสียงขบวนรถไฟบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สินค้าจากจีนผ่านลาวมาไทย รัฐบาลไทยต้องทำให้จังหวัดหนองคาย เป็นHubเชื่อมรอยต่อโลจิสติกส์โครงข่ายรถไฟจีน-ลาว ให้สำเร็จโดยเร็ว และสร้างพื้นที่จังหวัดภาคอีสานให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่(Esan New Economic Corridor )เป็นฐานการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกรไทย ให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน”
เกียรติยศ ศรีสกุล (บรรณาธิการ)
ติดต่อโฆษณา โทร.0949608555